ดวงหน้าสวยคมมีมิติ มาพร้อมน้ำเสียงทุ้มทว่าอ่อนโยน บวกกับรูปร่างสูงโปร่งสะดุดตา นับเป็นมรดกทางกายภาพที่ผสาานกันอย่างละตัวระหว่างเชื้อชาติอิตาเลียนทางฝั่งบิดาและเชื้อชาติไทยจากฝั่งมารดา

“พื้นเพครอบครัวคุณปู่เป็นช่าวอิตาเลียนจากซานเรโม ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิตาลี เดิมทีคุณปู่ (มร.โอเทลโล เบเนเดทตี้) มาเมืองไทยเพื่อเยี่ยมพี่ชายซึ่งล้มป่วย พี่ชายคุณปู่เป็นนักเดินทางค่ะ สมัยนั้นความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอิตาลีดีมาก นับจากครั้งที่รัชกาลที่ 5 ท่านเสด็จประพาสยุโรป ยุคนั้นเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่่สอง คุณปู่ได้เจอกับคุณย่า (จาตร โทณะวณิก เบเนเดทตี้) ขณะหลบภัยสงครามที่หัวหิน”

“คุณปู่เดินทางไปมาระหว่างไทยกับอิตาลี ได้เห็นข้าวของทางโน้นที่น่าสนใจและเมืองไทยยังไม่มีจึงริเริ่มกิจการนำเข้า โดยเริ่มจากสินค้าที่อำนวจความสะดวกที่สุดในตอนนั้น หรือเครื่องใช้ไฟฟ้านั่นเอง พอมาถึงรุ่นคุณพ่อ (มร. อโดโฟ เบเนเดทตี้) กิจการก็เริ่มขยายไปเป็นสินค้าในโรงแรม เริ่มมีไวน์เข้ามาด้วย เพราะท่านมีความสนใจเรื่องนี้และเป็นการทดลองตลาด ซึ่งเราน่าจะเป็นบริษัทแรกๆที่มีไวน์อิตาเลียนนำเข้าที่หลากหลาย” คุณฟาเกริ่นประวัติครอบครัวอิตาเลเซียให้ฟังพลางแซวว่าชีวิตรักคุณปู่คุณย่าเหมือนพล็อตเรื่องในนิยาย

จากมาแตร์เดอี สู่ TASIS สวิตเซอร์แลนด์

“คุณพ่อท่านเกิดที่อิตาลี ฟามีโอกาสได้เดินทางไปพบปะญาติๆทางโน้นบ้าง แต่ฟาเกิดและโตที่เมืองไทย เรียนมาแตร์เดอีจนจบมัธยมต้น ก่อนคุณพ่อจะส่งไปเรียนไฮสคูลที่ TASIS สวิตเซอร์แลนด์” คุณฟาหมายถึงบอร์ดดิ้งสคูลชื่อดังที่ปัจจุบันมีแคมปัสในหลายประเทศ อย่าง ‘The American School in Switzerland’ ณ เมืองลูกาโน ติดกับพรมแดนอิตาลี

“โรงเรียนตั้งอยู่บนเขา สวยมาก แต่เหงาค่ะ ในคลาสเรียนใช้ภาษาอังกฤษ แต่พอนอกคลาสเขาคุยอิตาเลียนกันหมด เลยมีความจำเป็นต้องพูดสื่อสารได้ จากเมืองที่ฟาไปเรียน นั่งรถไฟข้ามพรมแดน 15 นาทีก็ถึงมิลานแล้ว ที่คุณพ่อให้ไปเรียนเมืองนั้นเพราะเงียบสงบปลอดภัย แต่ก็ใกล้ประเทศบ้านเกิดคุณพ่อ ท่านอยากให้ฟาเรียนรู้ภาษาอิตาเลียนไปพร้อมกันค่ะ”

คุณฟาเล่าว่าสำหรับตัวเธอเองแล้ว ‘ไฮสคูล’ ถือเป็นช่วงเวลาเหมาะสมในการไปศึกษาต่อต่างประเทศ เพราะเป็นช่วงที่ปรับตัวได้ดีทั้งในแง่ต่อตัวเองและต่อระบบการศึกษา ด้วยห้องเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนเพียง 10-15 คน ประกอบด้วยความเอาใจใส่อย่างทั่วถึงของครูที่นั่น ทำให้มุมมองการศึกษาของเธอเปลี่ยนไป และเป็นพื้นฐานที่ดีในการศึกษาต่อระดับสูงในภายหน้าอีกด้วย

“การเรียนที่สวิตฯต่างจากไทยมาก จำนวนนักเรียนต่างกันชัดเจรน ที่โน่นพอจำนวนคนน้อย ครูจะจำนักเรียนได้หมด ถามตอบเรื่องที่สงสัยกันได้ตลอด นัดปรึกษานอกรอบกับครูได้เสมอ เพราะครูก็ติดอยู่ในโรงเรียนบนภูเขาเหมือนนักเรียน (หัวเราะ) ระบบการเรียนที่เน้นให้เด็กทำความเข้าใจเนื้อหาเป็นพาร์ตๆไป ไม่เน้นเนื้อหาที่เยอะเกินไปแต่เรียนผิวเผินเหมือนบ้านเรา ประกอบกับเพื่อนรอบข้างที่ดี ทำให้มุมมองการเรียนเปลี่ยนไปมาก เวลาที่ครูให้อ่านหนังสือก่อนเข้าคลาส ฟากับเพื่อนสนิทจะอ่านเกินที่ครูสั่งเสมอ ในคลาสเวลาครูถามอะไร เราจะยกเมือแย่งกันตอบ จนครูบอกว่า ‘ฟาหยุดยกมือได้แล้ว’ ” คุณฟาเล่าด้วยความอารมณ์ดี ทำให้เห็นชัดเลยว่าบรรยากาศดีๆ สิ่งแวดล้อมรอบตัวที่ดี ส่งผลโดยตรงต่อศักยภาพผู้เรียนอย่างมาก

“จบจากไฮสคูลที่สวิตฯ เดิมทีทางบ้านอยากให้ฟาไปต่อมหาวิทยาลัยที่อังกฤษ คุณพ่อ คุณแม่ (วารุณี เบเนเดทตี้) ไปดูที่ทางเตรียมให้หมดแล้ว แต่ไปๆมาๆคุณพ่อคงเห็นว่าที่อังกฤษมีเด็กไทยเยอะ กลัวจะพากันเที่ยวเล่นมากกว่าเรียนจึงเริ่มลังเล ประกอบกับช่วงไฮสคูลปีสุดท้าย ที่โรงเรียนมีแนะแนวศึกษาต่อที่อเมริกา ฟาจึงเลือกไปเรียนต่อที่แอลเอ เพราะเคยไปเที่ยวและชอบที่บรรยากาศเหมือนในหนัง อยู่เมืองเล็กมาหลายปี อยากออกไปเจอโลกกว้างบ้างค่ะ ขอแบบแคมปัสสวยๆน่าเรียน เลยไปต่อที่ Marymount College คนเดียว ส่วนเพื่อนๆไปบอสตันกันหมด”

Liberal Arts กับพื้นฐานความคิด

“แคมปัสที่นี่สวยสมใจมาก ตัวคอลเลจอยู่บนภูเขาสุดปลายอ่าวทางด้านลองบีช เมืองชื่อ Palos Verdes ขับรถไปมองเห็นทะเล จากห้องเรียนก็มองเห็นทะเล วิวสวยมาก มีแรงบันดาลใจในการเรียน จริงๆคุณพ่อคุณแม่ค่อนข้างเป็นห่วงที่จะไปเรียนในเมืองใหญ่และเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างแอลเอ โชคดีที่แคมปัสนี้เป็นไพรเวตคอลเลจ ที่เด็กปีหนึ่งต้องอยู่ในหอพักของวิทยาลัย ด้านเนื้อหาการเรียนเป็นหลักสูตรสองปี สอนด้านศิลปศาสตร์ (Liberal Arts) พวกเลข ภาษา จิตวิทยา ปรัชญา สังคมวิทยา ฯลฯ วิชาพื้นฐานแนวๆนี้ เพราะช่วงนั้นฟายังไม่แน่ใจว่าจะศึกษาต่อในสาขาไหน แถมเรียนที่นี่ยังใช้เครดิตเทียบโอนไปต่อมหาวิทยาลัยอื่นได้ด้วย”

“นอกจากบรรยากาศจะดีมากแล้ว ครูที่นี่ยังอินเทอร์แอ็กทีฟมากค่ะ เอาใจใส่และเข้าถึงนักเรียนได้อย่างดี คุณครูจะแจ้ง office hours อย่างชัดเจน หากมีคำถาม ฟาสามารถไปพบที่ห้องพักครูตามเวลาที่แจ้ง สามารถอีเมลขอทำนัดเพื่อถามในสิ่งที่ไม่เข้าใจ หลายครั้งเวลาสอบ ผลออกมาฟาจะได้เอ็กซ์ตราเครดิตหรือข้อสอบโบนัสเพิ่ม” คุณฟาหัวเราร่วนเมื่อนึกถึงวัยเรียนสมัยที่เธอไปแย้งคำตอบกับครู จนครูถามว่าได้ 100/100 ยังไม่ใจอีกหรอ และการเรียนที่ Marymount College ยังเอื้อประโยชน์ให้แก่ทั้งตัวเธอและคนอื่นอีกด้วย

“ฟาชอบจดโน้ตค่ะ เวลาอ่านหนังงสือแค่ไฮไลท์ไม่พอ ต้องจดด้วยถึงจะจำแม่นและไม่ต้องมาอ่านซ้ำอีก คืออ่านเป็นบทๆไป แล้วเขียนในสิ่งที่จำได้หรือใจความสำคัญลงในสมุด ที่คอลเลจมีส่วนที่เรียกว่า ‘learning disability’ สำหรับคนที่มีข้อบกพร่องทางการเรียน เขาจะเอาโน้ตของฟาไปแชร์ให้นักเรียนเหล่านี้ ฟาจึงต้องส่งโน้ตที่จดให้ครูตลอด ซึ่งครูบอกว่ามันจะดีต่อเรซูเม่ของเราเวลาไปยื่นเรียนต่อที่อื่น”

ในบรรดาเพื่อนๆไฮสคูลที่สนิทสนมกัน คุณฟาเป็นเพียงคนเดียวที่แยกออกมาเรียนฝั่งตะวันตก เมื่อมีโอกาสได้บินไปเยี่ยมเพื่อนที่บอสตันเป็นครั้งคราว ได้เปิดโลกทัศน์ด้านการศึกษาในอีกมุมมอง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เธอเลือกไปศึกษาต่อยังเมืองแห่งมหาวิทยาลัยอย่างเมืองบอสตัน ณ อีกฟากฝั่งของประเทศ

“การเรียน Liberal Arts 2 ปีที่แอลเอทำให้ฟ้ารู้ใจตัวเองแล้วว่าชอบอะไร คำตอบที่ฟาค้นพบให้ตัวเองคือ ‘จิตวิทยา (Psychology)’ ค่ะ ธรรมดาฟาไม่ใช่คนอ่านหนังสือมากมายนอกจากช่วงสอบ แต่สำหรับวิชาจิตวิทยาและปรัชญาเป็นข้อยกเว้น อ่านชนิดวางไม่ลง เพราะมีแต่เรื่องให้เราคิดต่อได้เต็มไปหมด”

สู่โลกการศึกษาจิตวิทยา พร้อมจุดหักเหในชีวิต

เมื่อรู้ใจตนเองดีแล้วว่าชอบอะไร หญิงสาวจึงไม่รอช้า ตระเตรียมการหาที่เรียนต่อทันที โดยสถาบันที่เธอสนใจนั้นต้องมีหลักสูตรจิตวิทยาที่เช้มข้นน่าเรียน คำตอบจึงมาออกที่ 2 มหาวิทยาลัยในเมืองบอสตัน เมื่อหักลบคะแนนถี่ถ้วนแล้ว เธอจึงเลือกหลักสูตรที่เหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด นั่นคนือ ‘Social and Industrial Psychology’ แห่งมหาวิทยาลัย Northeastern University

“พอรู้ข่าวว่าทั้ง 2 มหาวิทยาลัยตอบรับ ฟารีบโทรหาคุณพ่อคุณแม่ทันที ทั้งที่ตอนนั้นเป็นเวลาตี 4 ของเมืองไทยค่ะ” เธอหัวเราะร่าเริงเมื่อพูดถึงบรรยากาศครั้งนั้น พร้อมเล่าอีกว่าตนมักโทรคุยกับบิดาอยู่บ่อยๆ 2-3 วันครั้ง หรือไม่ว่าท่านจะติดอะไรก็จะรับสายและคุยกับฟาเสมอ ตอนนั้นมี ICQ เราคุยกันทาง ICQ และ MSN ด้วย”

“บรรยากาศการเรียนคราวนี้ไม่เหมือนเดิม จากแคมปัสเล็กๆที่เคยเรียนกลายเป็นใหญ่มาก คลาสใหญ่มาก นักศึกษาเยอะมาก ดังนั้น strategy ในการเรียนของฟาจึงเปลี่ยนไป ต้องหาบัดดี้เรื่องเรียน เผื่อไม่เข้าใจหรือจดไม่ทันจะได้ช่วยกันได้ ก็ได้เจอกับนักเรียนญี่ปุ่น เป็นคนขยันมาก-ก-ก ฟาจะไปนั่งข้างเขาตลอดเวลาเจอกันในคลาส”

ทุกอย่างเหมือนจะไปได้ดีตามปกติที่ควรจะเป็น แต่แล้ววันหนึ่งหลังจากเริ่มต้นการศึกษาใหม่ไม่นาน คุณฟาก็ได้รับข่าวร้ายที่สุดในชีวิตจากอีกซีกโลกหนึ่ง เมื่อบิดาอันเป็นที่รักได้ด่วนจากไปโดยไม่ทันร่ำลาในวันครบรอบวันเกิดอายุครบ 21 ปีของเธอเอง

“ตอนนั้นฟากำลังฉลองวันเกิดกับเพื่อนๆทางบ้านโทรมาว่าคุณพ่อป่วย แต่จริงๆท่านสิ้นแล้ว ไม่มีสัญญาณเตือนอะไรเลย ท่านจากไปกะทันหันด้วยโรคหัวใจ เมื่อฟากลับมาเมืองไทย ได้เจอคุณแม่แล้ว ทีแรกไม่อยากกลับไปเรียนต่อเลย อยากอยู่กับท่าน แต่พอนึกดูอีกที การที่คุณพ่อไม่อยู่แล้วถือเป็นแรงผลักดันให้ฟาอยากรีบเรียนให้จบ ให้สำเร็จ คุณพ่อจะได้ดีใจและจะได้กลับบ้านสักที และท่านคงอยากให้ฟาระลึกถึง จึงเลือกจากไปวันเดียวกับวันเกิดของฟาพอดี” ผ่านวันนั้นมาแล้ว 17 ปี คุณฟาในวันนี้จึงเข้มแข็งพอที่จะเล่าถึงเรือ่งความสูญเสียสุดประเมิน

“ฟากลับไปเรียนจนจบ 2 ปีตามกำหนด โชคดีที่ได้เพื่อนดี เป็นกลุ่มเพื่อนสนิทกลุ่มเดิมจากสวิตเซอร์แลนด์นั่นละค่ะ ทุกวันนี้ยังคบหากันอยู่ ถ้าไม่ได้เพื่อนๆเหล่านี้คงทำใจได้ยาวกกว่านี้มาก”

“ระบบการเรียนของที่ยูฯนี้จะเป็นควอเตอร์ค่ะ ซึงก็ดีเพราะจะได้เรียนมากขึ้นในเวลาที่สั้นลง และมีที่เรียกว่า experiential study คือไปฝึกงานกับคนที่เป็นโปรเฟสชั่นนอลตัวจริงได้ อย่างถ้ามีผู้เชี่ยวชาญมาขอใช้อุปกรณ์หรือสถานที่ของมหาวิทยาลัยเพื่อทำวิจัย เราสามารถไปลงสมัครตรงนี้ได้ คล้ายๆเป็นเด็กฝึกงาน ในวันนี้ยังมีชื่อฟาเป็นผู้ช่วยนักวิจัยในเล่มวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ด้วยนะคะ” เธอกล่าวอย่างภูมิใจ ก่อนอธิบายเพิ่มว่าการศึกษาด้านจิตวิทยาหลักๆแล้วมี 3 แขนง คือจิตวิทยาคลินิก (clinical psychology) ที่จบมาเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา จิตวิทยาพัฒนาการ (developmental psychology) จบมาเป็นเป็นคนครู และนักจิตวิทยาสังคม (social psychology) ที่เน้นเรียนกว้างๆเอาเนื้อหามาปรับใช้ได้ทั่วไป ไม่เฉพาะเจาะจง

“ฟาเลือกเรียนสายโซเชียล เพราะรู้สึกว่าเอามาใช้ได้ในชีวิตจริง จึงเลือกคลาสต่อเนื่องใน ‘industrial psychology’ เน้นเป็น case study ของพวกองค์กร คราวนี้เริ่มเข้าที่เข้าทางละว่าจะเน้นทางไหนชัดๆ พร้อมกันนี้ฟาก็ลงเรียนปรัชญาด้วยทุกเทิม จนถึงจุดหนึ่งที่ต้องบอกตัวเองให้หยุด เพราะเราเริ่มออกห่างจากโลกความจริงแล้ว (หัวเราะ) คือปรัญชาเป็นวิชาที่ดี ทำให้เรามีพื้นฐานความคิด แต่ก็ต้องรู้จักตัวเองด้วย”

“ฟาสนุกกับการเรียนหนังสือ ลงเรียนเกินหน่วยกิตตลอด ใครชวนไปเที่ยวไหนถ้าเป็นช่วยใกล้สอบ มาหาฟาที่ห้องสมุดได้เสมอ” ถึงตรงนี้คุณฟาหัวเราะร่วนพร้อมสำทับว่าเป็นอดีตไปแล้ว “ฟาจะเป็นประเภทที่ต้องจัดการเรื่องเรียนให้เสร็จก่อน จากนั้นจะทำอะไรค่อยทำ จะไปเที่ยวหรือไปกินข้าวค่อยว่ากันทีหลัง เพราะเป้าหมายของเราคือไปเรียน สนุกดีค่ะ เพราะสุดท้ายก็ได้ ‘cum laud honor’ หรือเกียรตินิยมกลับมาฝากคุณแม่ด้วย”

หลังเรียนจบ คุณฟาหาประสบการณ์ทำงานนอกบ้านอยู่ระยะเวลาสั้นๆ ก่อนกลับมาเสริมทัพพี่ชาย (คุณแม็กซ์ -จักรกฤต เบเนเดทตี้) ดูแลกิจการ Italasia ของครอบครัว ผ่านประสบการณ์บริหารงานมา 13 ปี ปัจจุบันคุณฟาดำรงตำแหน่ง Hospitality Director ดูแลด้านงานบริการ โรงแรม ร้านอาหาร และรีเทล โดยใช้ความรู้ความชอบด้านจิตวิทยามาบริหารองค์กรของตัวเองได้อย่างมีศักยภาพ

“ฟาว่าแนวคิดทางจิตวิทยาที่เรียนมามันฝังอยู่ในตัวเรานะ บางทีแรกๆก็เหนื่อยหน่อยเพราะเป็นคน overanalyzed จะคิดเยอะ คิดลึกกว่าคนอื่น ต้องค่อยๆปรับลดลงบ้าง ฟาค่อนข้างเป็นคนละเอียดและเป็นห่วงคนที่ทำงานเสมอ ส่วนตัวไม่เชื่อว่าการเป็นเจ้านายคือการสั่งงานอย่างเดียว แต่ควรเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมงานสามารถเข้าถึงและพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในลักษณะทีมเวิร์ก ที่ทำงานฟาพูดคุยกับทุกคน สนับสนุนให้คุยกับเราได้ ฟานั่งคุยกับแม่บ้านประจำค่ะ นึกถึงสมัยก่อนคุณย่าจะออกมานั่งคุยกับแผนกเซอร์วิสถึงเรื่องทั่วไป ถามได่สารทุกข์สุกดิบ พนักงานที่บริษัทรักคุณย่ากันมากค่ะ ที่บริษัทเราเวลามีประชุม ทุกคนในห้องจะได้พูดแสดงความคิดเห็น ฟาว่าความเป็นห่วงเป็นใยพนักงานนี่สำคัญ ดีกว่าวางตัวให้คนเข้าไม่ถึง

“ฟาชอบคำพูดของกูรูธุรกิจที่ชื่อ Richard Branson เขากล่าวไว้น่าสนใจว่า ‘Clients do not come first, Employees come first. If you take care of your employees, they will take care of the client.’ ซึ่งมันจริงมากสำหรับการบริหารงานยุคปัจจุบันค่ะ”

 

ขอบคุณบทสัมภาษณ์จากนิตยสาร HELLO! Education 2016