ในครอบครัวที่มีธุรกิจหลายแขนงที่ต้องการทายาทมาช่วยสานต่อให้ก้าวหน้าต่อไปนั้น  คนส่วนใหญ่มักมองว่าจะต้องมีการวางตัวลูกหลานให้มาสืบทอดกิการต่อ  แต่ถ้าถามทายาทจริงๆแล้วมักได้คำตอบคล้ายๆกันว่าไม่ได้มีการวางตัวไว้ล่วงหน้า แล้วแต่ความสามารถหรือความชอบของลูกหลาน  แต่สิ่งสำคัญที่ทุกคนมักจะวางแผนเหมือนกันคือ  ให้การศึกษาแก่ลูกๆให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

เช่นเดียวกับครอบครัว “พรประภา” ของคุณมนนเทพ พรประภา ซึ่งก็มีลูกชายคนเดียวคือ น้อง ปุญญ – มานูเอล ปัญญวัฒน์ พรประภา อายุ 11 ปี ดังนั้นการศึกษาของน้องปุญญจึงได้รับการวางแผนอย่างดีที่สุด  และความที่น้องปุญญเกิดที่ประเทศเยอรมนี  ภาษาเยอรมันจึงเป็นภาษาแรกที่เขาพูดได้  และเมื่อกลับมาเมืองไทย  คุณพ่อจึงให้เข้าเรียนโรงเรียนที่สอนภาษาเยอรมันเพื่อความต่อเนื่องทางภาษา

เตรียมตัวล่วงหน้าตั้งแต่เด็ก

“น้องปุญญเกิดที่เยอรมันและเรียนที่โน่นจนถึงอนุบาล 3 พอกลับมาเมืองไทย เราก็คิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ลืมภาษาเยอรมัน  เราก็ให้ไปเข้าสวิส สคูล ของโรงเรียนร่วมฤดี และก่อนที่จะเดินทางกลับ ผมกะไว้แล้วว่าโตขึ้นจะต้องส่งไปเรียนโรงเรียนประจำ ผมก็หาโรงเรียนเตรียมไว้เลย มีผู้แนะนำโรงเรียนชื่อ Institut auf dem Rosenberg อยู่ที่เมือง St.Gallen สวิตเซอร์แลนด์ เป็นโรงเรียนประจำระดับ เอ ลิสต์ ติดระดับท็อปที่คนมีสตางค์ของเยอรมันส่งลูกหลานมาเรียน และห่างจากชายแดนสวิส-เยอรมันไม่ถึงชั่วโมง เป็นโรงเรียนที่คุณภาพดีมาก ตั้งมาร้อยกว่าปี และที่สำคัญ การสอนทุกอย่างเป็นภาษาเยอรมันชั้นสูง หรือโฮคดอยช์ (Hochdeutsch) ไม่มีสำเนียงใต้หรือจากที่อื่นๆมาปน เป็นภาษาเยอรมันผู้ดี ครูหรือบุคลากรก็เป็นครูทั้งสวิสละเยอรมัน ผมก็แวะไปดู และครู่ใหญ่ก็พาไปแนะนำ เขาบอกว่าเขารับเด็กตั้งแต่อายุ 8 ขวบ แต่ถ้า 7 ขวบเด็กคนไหนพร้อมก็มาได้”

“ในระหว่างที่น้องปุญญกลับมาเมืองไทยตอนอายุ 5 ขวบ ก็เรียนอนุบาล 3 ป.1 และป.2 ช่วง 3 ปีที่เมืองไทย เราเตรียมความพร้อมด้วยการส่งไปเข้าซัมเมอร์คอร์สของโรงเรียนนี้ 2 ปีติดกัน เขาจัดสำหรับเด็กต่างประเทศที่เมืองอาโรซา (Arosa) เป็นเมืองที่อยู่บนเขาในสวิตเซอร์แลนด์ หน้าร้อนอากาศเย็นสบาย และมีที่ทำกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งเทรกกิง ว่ายน้ำ บาร์บีคิว” น้องปุญญบอกว่า “สนุกครับ ตอนเรียนก็เรียนถึงกินลันช์ พอลันช์เสร็จไปทำการบ้าน เขามีเวลาให้ทำการบ้าน 3 ชม. เสร็จแล้วก้เข้าห้องพักได้”

“คร้้งแรกไปตอน 7 ขวบ นาน 3 อาทิตย์ ทดลองก่อน น้องปุญญไม่ร้องไห้เลย อีกปีนึง 8 ขวบก็ส่งไปที่เดิมอีก และผมได้มีโอกาสพบกับคุณครูคนหนึ่งที่สอนที่โน่น เป็นคนอังกฤษ เขาขวนผมคุย เขาบอกว่ามานูเอลจบซัมเมอร์แล้วจะเตรียมไปอยู่ซังกาแลน (Sankt Gallen) แล้วใช่ไหม เขาบอกว่าดีนะที่คุณตัดสินใจตอนนี้ เพราะประสบการณ์ของเขาเอง วัยที่ดีที่สุดที่จะมาอยู่ boarding school คือวัย 8 ขวบ เขาเองก็อยู่ประจำตั้งแต่ 8 ขวบ ปีแรกเป็นปีที่ยาก อาจจะร้องไห้บ่อยหน่อย แต่เขาบอกว่าคุณจะเห็นเลยว่ามันจะได้ผลก่าการที่มาตอน 11 ขวบ บางทีมาในช่วงนั้นการเรียนรู้ third language จะเริ่มช้าไปแล้ว บางคนจบ ป.6 บ้านเราแล้วมาเพื่อจะเข้าเกรด 7 บางโรงเรียนจะบอกเลยว่าช้าไปแล้วที่จะเริ่มเรียนภาษาฝรั่งเศส ซึ่งเป็นภาษาที่ควรจะเริ่มเรียนเร็ว เพราะมีลักษณะคล้ายๆกับภาษาไทย และบางภาษาที่มีความซับซ้อนควรจะเริ่มเรียนตั้งแต่เด็กจะซึมซับได้ดีกว่า แม้จะดูเหมือน hard ว่าทำไมส่งลูกไปเรียนตั้งแต่เล็กๆ แต่เขาบอกว่าเป็นวัยที่ดีที่สุด ทั้งจากตัวเขาเองและจากรีเสิร์ชหลายๆอัน โรงเรียนต่างๆถึงรับนักเรียนประจำตั้งแต่ 8 ขวบ”

“โรงเรียนนี้แบ่งเป็น 5 หลักสูตร คือ หลักสูตรการเรียนแบบเยอรมัน (German Abitur) หลักสูตรสวิส (Swiss Matura) หลักสูตรอังกฤษ (British A Levels) หลักสูตรอเมริกัน (US HIgh School) และหลักสูตรอิตาลี (Italian Maturity) ผมเลือกหลักสูตรเยอรมันเพราะเขาอยู่เยอรมนีมาก่อนและพูดภาษาเยอรมันได้ และมีพาสปอร์ตเยอรมัน แม้ภาษาเยอรมันอาจจะดูไม่ค่อยมีคนใช้ แต่ในยุโรปเป็นภาษาที่มีคนนิยมเรียนมาก คนอิตาลีก็นิยมเรียนภาษาเยอรมัน สแกนดิเนเวียแทบทุกประเทศ ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก พวกนี้เรียนภาษาเยอรมัน พูดเยอรมันได้ค่อนข้างดี และชาติอื่นๆในยุโรปก็พูดภาษาเยอรมันได้เยอะ”

“ข้อดีคือ ภาษาเยอรมัน แน่นอนใช้ในเยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์เป็นส่วนใหญ่ และในออสเตรเลีย แต่ไม่เท่าฝรั่งเศส เพราะฝรั่งเศสมีอาณานิคมเยอะ มองลึกลงไปอีกหน่อย ความได้เปรียบคือ อย่างน้อยที่สุดเขาสามารถไปเรีนต่อในมหาวิทยาลัยในสวิส ออสเตรียได้หมด หรือจะเป็นที่อื่นก็ได้ถ้าเขาสมัครสอบภาษาอังกฤษ ผมคิดว่ามีตัวเลือกมากกว่า”

“ผมเองก็พูดได้หลายภาษา ทั้งเยอรมัน ญ๊่ปุ่น อังกฤษ และเห็นว่าการเรียนภาษาเป็นการฝึกตรรกะ ฝึกสมอง และทำให้เราได้เปรียบ ถ้าเราสามารถพูดได้หลายภาษาก็เป็นกำไรชีวิต”

เน้นทั้งวิชาการ การเข้าสังคม ระเบียบวินัย และกิจกรรม

น้องปุญญเล่าถึงโรงเรียนว่า “ผมเคยไปดูโรงเรียนมาก่อนแล้ว ตอนแรกก็เฉยๆ พอไปอยู่แล้วก็ชอบ ไปครั้งแรกปาป๊าไปส่ง ตอนแรกก็ร้องไห้ พ 2-3วันผ่านไปเจอเพื่อนก็ไม่ร้อง ตอนที่ผมไปครั้งแรกไม่มีคนไทย 1 ปี ผ่านไปมีคนไทยมา ชื่อพี่แม็ก เขาอายุโตกว่า ปีนี้เขาเพิ่งจบ”

“ห้องนอนผมมี 2 คน บางห้องก็มี 3 คน ในตึกผมผู้หญิงอยู่ชั้น 1 ผู้ชายอยู่ชั้น 2 กับ ชั้น 3 มีครูพักอยู่ด้วยทุกชั้น ทุกคนต้องตื่นหกโมงครึ่ง ถ้าไม่ตื่น ครูจะปลุกจนตื่น เอาน้ำสาดก็มี ตื่นมาแปรงฟัน อาบน้ำ แต่งตัว หวีผมด้วย แล้วก็ทำเตียงเองให้เรียบร้อย ตอนอยู่บ้านไม่เคยทำ ครั้งแรกครูโชว์ให้ดู เสร็จแล้ววันต่อไปผมก็ทำได้”

“ไปโรงเเรียนต้องใส่สูทผูกเนกไททุกวัน ตอนแรกก็ผูกไม่เป็น ใส่แบบสำเร็จรูปที่ยืดได้ เพื่อนก็มาแกล้งดึง ผมก็ถามปาป๊าว่าผมขอเทกไทอันจริงหน่อย ปาป๊าก็สอนวิธีผูกให้ เพื่อนก็ยังใช้แบบยางยืดอยู่ เขาไม่อยากเรียน (วิธีผูก) เนกไทจะเป็นแบบไหนก็ได้ ถ้าไม่ใส่ต้องไปเข้าห้องที่อดกินข้าว”

“เวลาไปกินข้าวต้องใส่สูทแบบนี้ทุกครั้ง ชุดไปเรีนยก็ต้องใส่แบบนี้ ถ้าใส่ไม่ครบก็ต้องกลับไปที่ห้อง ใส่ให้เรียบร้อย ห้ามใส่กางเกงยีนส์ไป รองเท้าก็ต้องสีดำ ผูกเชือกหรือสวมก็ได้ วันเสาร์อาทิตย์เวลาจะไปกินข้าวก็ต้องแต่งตัวแบบนี้ ผมมีแจ็กเก็ต 4 ตัว สีดำ 2 ตัว สีน้ำเงิน 2 ตัว ใส่สีอะไรก็ได้ครับ ต้องสีสุภาพ แต่บางครั้งครูใส่สีทอง แดง ฟ้าก็มี ครูก็ต้องใส่สูทเหมือนกัน”

“เมื่อจะกินข้าว ทุกคนต้องยืนขึ้นพร้อมกัน แล้วให้ผู้หญิงนั่งก่อน เขาจะมีกระดิ่ง กริ๊งแรก ผู้หญิงนั่ง แล้วก็อีกกริ๊ง ผู้ชายนั่ง ตอนที่ยืนบางครั้งเขาพูดอะไรให้คนโตๆฟัง ถ้าเราไม่เงียบเขาก็จะไม่กดกริ่งให้นั่ง”

“เขามีเวลาให้เล่นเกมด้วย ถ้าหมดเวลาแล้วก็จะเอาคอมพิวเตอร์ไปไว้ในตู้ ของเล็กๆพวกมือถือ นินเทนโดก็เอาไว้ในกล่องเล็กๆข้างหน้ากล่องที่มีชื่อคน เก็บไว้ในห้องครู โทรศัพท์มือถือก็ให้ใช้เป็นเวลา บางครั้งได้ครึ่ง ชม. บางครั้งได้ 1 ชม. ไม่เหมือนกัน เขามีตารางเขียนไว้เลยว่าอันนี้เวลานี้ถึงเวลานี้ สำหรับทำอะไร”

“เรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงกินข้าว ตอนเย็น ผมมีเรียน บี 1 คือเรียนพิเศษเยอรมัน แต่เป็น normal class เพราะว่าภาษาเยอรมันจะได้ดีขึ้น แล้วเขาให้เลือกว่าอยากเรียนถึงระดับ ซี 2 หรือเปล่า ผมอยากเรียน”

คุณพ่อเสริมว่า “โดยพื้นฐาน ถ้าพ่อแม่ไม่ใช่คนเยอรมัน ครูบอกว่าเรียนเสริมก็ดี แล้วสอบวัดระดับไปเรื่อยๆ ตอนนี้เขาผ่านระดับ บี 1 แล้วก็จะเหลือ บี 2 แล้ว ซี 1 ถ้าเรียนถึง ซี 1 ก็จบละ แต่เขาอยากจะเรียนถึง ซี 2 ถือเป็นระดับแอดวานซ์ เขาก็ว่าจะสอบไปเรื่อยๆ ผมก็ว่าดี ในชีวิตประจำวันที่โน่นเขาจะพูด 2 ภาษา คือเยอรมันกับอังกฤษ เพราะมีเพื่อนที่เรียน international section ด้วย พวกโปแลนด์ รัสเซีย จีน”

“ตอนนี้ในคลาสส่วนใหญ่เป็นเยอรมัน ของผมวิชาที่ยากก็มีเยอรมัน ฝรั่งเศส ที่เหลือก็ไม่ค่อยยากมากครับ ครูดุนิดหน่อยเวลาทำโทษ แต่ผมไม่เคยโดน” น้องปุญญพูดยิ้มๆ

“เขาได้ใบ นักเรียนความประพฤติดีเกือบทุกปีครับ ครูบอกว่าให้ความช่วยเหลือดี” คุณพ่อกล่าวอย่างภาคภูมิใจ

เก่งกีฬา

“ผมเล่นฟุตบอล สกี เทนนิส วอลเลย์บอล ฮอกกี้ ไอซ์ฮอกกี้นิดหน่อย สกีเป็นวิชาบังคับ บางครั้งก็ไปเล่นที่เยอรมนี ออสเตรีย สวิส ในช่วงสกีซีซั่น เดือนพฤศจิกายนจนถึงกุมภาพันธ์ ทุกวันอาทิตย์ทุกคนต้องไปเล่นสกี วันเสาร์นักเรียนที่สนใจก็ไปเล่นได้ บางทีก็เป็น night ski สนุกมากกก ผมได้เหรียญมาหลายปีแล้ว และเล่นเทนนิสก็ได้ถ้วยรางวัล แข่งสกีจับเวลาได้ที่ 2 ปีล่าสุดได้ที 3 เทนนิสล่าสุดได้ที่ 1” น้องปุญญโชว์เหรียญและถ้วยรางวัลต่างๆ โดยมีคุณพ่อยิ้มอยู่ข้างๆ

“ปีหนึ่งมี 3 เทอม พอปิดเทอมเราก็ไปรับเขากลับบ้าน เราคิดว่าเรารับส่งเขามาจะ 3 ปีแล้ว แต่ว่าปีนี้ผมก็คุยกับเขาว่าจะเป็นปีสุดท้ายแล้ว เขาก็บอกเองด้วยว่า “ผมพร้อมแล้วครับ” เขาอยากจะเดินทางคนเดียวแล้ว พร้อมที่จะบินเดี่ยว กลับบ้านเองได้”

“ล่าสุดหยุด 5 วันเป็นวันหยุดยาว พ่อเพื่อนที่เป็นชาวโปแลนด์ เขาจะรับลูกกลับ เขาก็เลยชวนน้องปุญญไปด้วย เป็นเพื่อนซี้กัน ออกค่าตั๋วให้หมดเลย บินไปอยู่บ้านเขาที่โปแลนด์” น้องปุญญบอกว่า “สนุกครับ” และไม่โทรกลับบ้านด้วย เวลาไปรับเขาแต่ละครั้ง บางทีคุณย่าและคุณอาไปด้วย ก็จะพาไปเที่ยวที่อื่นๆต่อบ้าง”

“ที่่คุูณย่าอยากให้เที่ยวเพราะคุณย่ายังพาไปไหวด้วย และคิดว่าเดี๋ยวเริ่มเข้าเกรด 7 ก็จะเรียนหนัก เราก็แพลนไว้ว่าเมื่อเข้ามัธยม เกรด 7-8-9 ก่อนถึงเกรด 10 ผมกะว่าช่วงปิดเทอม เราส่งไปเรียนซัมเมอร์ที่อื่นๆ เช่น ส่งไปอังกฤษเพื่อเรียนภาษาอังกฤษเพิ่ม ส่งไปฝรั่งเศสเพื่อเรียนภาษาฝรั่งเศสและไปอยู่กับแฟมิลี่ ช่วงนั้นก็คงไม่ค่อยได้เที่ยวแล้ว หยุด 2 เดือน ไปเรียนเดือนหนึ่ง อีกเดือนหนึ่งก็กลับมาพักผ่อนที่เมืองไทยให้ทุกคนหายคิดถึง”

พัฒนาการดีขึน

“แน่นอนคือความมีระเบียน แต่เดิมอยู่เมืองไทย บางทีเราก็สปอยล์เกินไป มีพี่เลี้ยงทำอะไรให้ แต่อยู่ที่โน่นทุกอย่างต้องทำเองหมด ต้องวางแผน ต้องจัดกระเป๋าเอง ใหม่ๆก็อาจจะจัดกระเป๋าไม่ค่อยเก่ง อะไรๆก็จับยัดเข้าไป ต่อมาก็มีระเบียบขึ้น ยกของเอง ครูไม่ให้ช่วย ยกเว้นบางครั้งถ้ามันหนักเกินไป ส่วนใหญ่จะให้เด็กทำเอง ให้รู้จักช่วยกันกับเพื่อน มีความรับผิดชอบมากขึ้น มารยาทสากลดีขึ้น รู้จักใช้เงิน บางอย่างเขาจะบอกเองว่าอันนี้ไม่เอา”

วางแผนต่อไป

“น้องปุญญต้องอยู่โรงเรียนนี้อย่างต่ำอีก 7 ปี จนถึงเข้ามหาวิทยาลัย จะเรียนต่อที่ไหนก็แล้วแต่เขาเลยครับ ผมยังบอกเขาเลยว่า ถ้าเข้าเกรด 10 ไม่อยากจะอยู่สวิส-เยอรมัน เซ็กชั่น จะย้ายไปอยู่อินเตอร์เนชั่นแนล เซ็กชั่น เพื่อไปเข้ามหาวิทยาลัยที่ใช้ภาษาอังกฤษก็ได้”

“ความตั้งใจของผมคือเมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัยแล้วให้ทำงานที่โน่นเพื่อหาประสบการณ์อย่างน้อย 3-5 ปี และอีกอย่าง การที่จบมหาวิทยาลับที่โน่นแล้วทำงานมันจะทำให้เขาเรียนรู้ว่าเมื่อเข้าไปในชีวิตจริง โตเป็นผู้ใหญ่การจะหาเงินเพื่อมาเลี้ยงชีพตัวเองมันต้องใช้อะไรบ้าง เขาจะเรียนรู้ด้วยตัวเอง คือเราจะไม่บอกว่าเรียนจบแล้วต้องกลับมา ถ้าวันหนึ่งเราต้องการให้เขามาช่วยธุรกิจของครอบครัว นั่นก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่โดยส่วนตัวแล้วผมอยากให้เขาทำงานอยู่ที่โน่นสักพักหนึ่ง แต่จะเรียนด้านไหนแล้วแต่การตัดสินใจของเขา”

คุณพ่อชอบเรียน

“ผมสนใจภาษาอยู่แล้ว จบปริญญาตรี โท ที่ญี่ปุ่น ที่ไปเรียนญี่ปุ่นเพราะเกี่ยวกับธุรกิจของครอบครัว ตอนนั้นคุณพ่อทำโรงเหล็กกับมิตซุย คุณพ่อบอกว่าก็ดีนะไปเรียนมหาวิทยาลัยที่โน่น และให้พักอยู่ที่หอพักบริษัทซึ่งราคาไม่แพง”

“ตอนแรกต้องไปเรียนภาษาญี่ปุ่นก่อน ใช้เวลาประมาณปีครึ่ง แล้วเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยนิฮอน (Nihon University) จบแล้วพ่อก็บอกว่าถ้าจะเรียนโทต่อก็ดี ตอนแรกว่าจะเปลี่ยนประเทศ พ่อบอกว่าเรียนที่นี่สิภาษาจะได้แข็งๆ ก็เรียนโทต่อ แล้วเกิดความรู้สึกท้าทาย คิดว่าอะไรก็ได้ที่คนไม่ค่อยไปเรียน ส่วนใหญ่ไปเรียนที่อังกฤษ อเมริกาเยอะแล้ว เราลองประเทศอื่นดูมั้ย เยอรมนีเป็นประเทศหนึ่งที่น่าสนใจก็เลยไป เพราะว่ารากฐานอย่างเวลาที่เราเรียนภาษาญี่ปุ่น บางคำยังใช้รากศัพท์เป็นภาษาเยอรมัน อย่างค่า pH ของกรดกับด่าง คนญี่ปุ่นเรียกค่า เพฮา ออกเสียงอย่างเดียวกัน ก็เลยคิดว่าลองไปทำดอกเตอร์ที่เยอรมันดูไหม ไปโดยที่ไม่รู้อะไรเลย ก็ต้องเริ่มเรียนภาษาก่อนประมาณปีครึ่ง แล้วแอพพลายไปเป็น engineering scientist ของมหาวิทยาลัยอาเคิน (RWTH Achen University) เหมือนเป็นการทำงานวิจัยและเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัท”

“มหาวิทยาลัยในเยอรมันเขามีสถาบันที่สามารถหาเงินเองได้ โดยเป็นที่ปรึกษา ทำโปรเจ็กต์ร่วมกับบริษัทเอกชน เป็นวัฒนธรรมองค์กรของเยอรมัน เวลาเขามีนวัตกรรมใหม่ๆ เขาจะไปติดต่อบริษัทของมหาวิทยาลัย เราก็เลยเข้าไปในตำแหน่งนี้ และรู้ว่าการทำดอกเตอร์ในเยอรมันคือไม่มีเรียน คุณต้องคิดหัวข้อมาหนึ่งหัวข้อ และเหมือนกับแต่งตำราเล่มหนึ่ง ถ้าโปรเฟสเซอร์โอเค เขียนๆๆสอบ แล้วก็ผ่าน แต่ยาก ตอนแรกผมจะทำ ได้หัวข้อจะโอเคแล้ว พอดีโปรเฟสเซอร์เกษียณ ก็มีคนใหม่มา ความเห็ฯไม่ค่อยลงรอยกัน ก็เลยไม่ทำดีกว่า คงจะใช้เวลาหลายปี พอดีมีลูกด้วยก็ไม่ค่อยมีเวลา เพราะว่าลำพังการทำงานที่โน่นไม่ได้ทำวิจัยอย่างเดียว ต้องมีโปรเจ็กต์ของบริษัท โปรเจก์ของรัฐบาล และเราต้องสอนด้วย ทั้งคอร์สที่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาเยอรมัน เหมือนไปทำงานที่เยอรมัน”

“ผมอยู่ที่โน่น 12 ปี แต่สิ่งที่เราไม่ได้คือสำเนียงที่จะให้เหมือนเยอรมันจ๋า เราไม่ได้แน่นอน แต่น้องปุญญได้สำเนียงดีมากๆ ดีจริงๆนี่แค่ 3 ปี”

“พอกลับจากเยอรมันก็มาช่วยกิจการที่บ้าน หลักๆคือช่วยคุณพ่อดูรีสอร์ทที่เขาใหญ่กำลังปรับปรุง และทำมูลนิธิเกี่ยวกับพุทธศาสนา ช่วยดูบริษัทโฮลดิ้งของคุณย่า และเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยสยาม ล่าสุดก็ช่วยดูแลทีมฟุตบอล”

แบ่งเวลาให้ลูก

“แทบไม่ต้องแบ่งเลย เวลาที่เขาไม่อยู่มีโทรคุยบ้าง แต่พอเขากลับมา เราก็แบ่งเวลาให้เต็มที่ ถ้าเขาไม่ไปทำกิจกรรมที่ไหนเราก็พยายามอยู่กับเขา ทำอะไรร่วมกัน หลายๆคนบอกกับผมว่าช่วงนี้เป็นช่วงที่ยังโอเคนะ สักปีหน้าเขาก็จะมีโลกของเขาแล้ว ตอนนี้ยังมีความเป็นเด็กอยู่”

“ช่วงปิดเทอมคราวนี้เขาจะบวรเณร 3 อาทิตย์ที่วัดพระราม 9 เขาเคยบวชครั้งหนึ่งตอน 8 ขวบ ตอนนั้นบวช 5 วัน เหมือนเป็นการเอาฤกษ์เอาชัยก่อนไปเรียนเมืองนอก”

“ผมตั้งใจอยากให้เขาบวชที่วัดพระราม 9 อีกครั้งหนึ่ง เพราะมองดูแล้วว่าตอนนี้เหมาะสมที่จะบวชเรียนได้ หลังจากปีหน้า เขาขึ้นเกรด 7 หรือ ม.1 บ้านเรา จะไม่ค่อยมีเวลาจนโตเลย อีกทีก็บวชพระ  เราอยากให้เขาซัมซับอีกครั้งหนึ่ง ทั้งคุณย่าทวดและคุณยายทวดก็เริ่มมีอายุแล้ว อย่างน้อยก็บวชให้ญาติได้มารวมกัน เห็นผ้าเหลือง”

เลี้ยงลูกแบบเดียวกับที่ได้รับการเลี้ยงดูมา

“จะเรียกว่าเหมือนเลยก็ว่าได้ครับ คือคุณพ่อคุณแม่เลี้ยงผมแบบอิสระ ให้ความเป็นกันเอง และดูแลผมเป็นอย่างดี ให้เวลาและคอยให้คำปรึกษาตลอด ผมจึงซัมซับและใช้เป็นแบบอย่างในการเลี้ยงดูอบรมน้องปุญญครับ เพื่อให้เขาเติบโตอย่างมีคุณค่าและเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในสังคม นั่นคือ รู้จักการให้ การแบ่งปัน และทำประโยชน์เพื่อสังคม”

 

ขอบคุณบทสัมภาษณ์จากนิตยาสาร HELLO! Education 2016