เชพทอดด์ สรดิษ มธุรตรัย คอนดักเตอร์ความหวาน จินตนาการไร้ขีดจำกัด
เชฟทอดด์ Pastry Chef รุ่นใหม่ไฟแรงจาก Kendall College – USA

เชฟทอดด์ สรดิษ มธุรตรัย คอนดักเตอร์ความหวาน จินตนาการไร้ขีดจำกัด

ถ้าเราจะเปรียบบรรดาขนมอบจานอร่อยที่เรียงรายอยู่ตรงหน้าเป็นเพลงคลาสสิกอันแสนไพเราะที่มีวัตถุดิบแต่ละชนิดเป็นเครื่องดนตรีแต่ละขิ้นในวงออร์เคสตราแล้วล่ะก็ เรื่องราวของ World Chef ฉบับนี้ก็คงเปรียบเสมือนเป็นคอนดักเตอร์ผู้สง่างามที่สร้างสรรค์ความหวานลงในจานขนมในรูปแบบที่เป็นตัวของตัวเองได้อย่างเจิดจรัสท่ามกลางแสงไฟ เชฟทอดด์ สรดิษ มธุรตรัย Pastry Chef รุ่นใหม่ไฟแรงจาก Kendall College เมือง  Chicago รัฐ Illinois สหรัฐอเมริกา ทางด้าน Associate Degree of Applied Science in Baking and Pastry

เชฟทอดด์ย้อนเล่าประสบการณ์กว่า 9 ปีที่ผ่านมาอย่างสนุกสนานว่าในช่วงต้นของการเรียนทำอาหาร เชฟเหมือนเป็นฟองน้ำคอยดูดซับเอาความรู้ทุกอย่างที่ได้เรียนมาไว้ที่ตัว และด้วยความเป็นคนมุ่งมั่น ไม่ยอมแพ้ ทำให้เชฟก้าวข้ามอุปสรรคมาได้ทุกครั้งและเข้มแข็งขึ้นทุกครั้งเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นทำงานหลังจากเรียนจบ ที่ไม่ว่าใครก็คงยอมรับการทำงานฟรีตลอด 8 เดือนได้ยาก แต่เชฟทอดด์ก็ผ่านมันมาแล้วที่ Charlie Trotter’s ร้านอาหารที่เคยติดอันดับ 1 ใน 5 ร้านดังของอเมริกา ซึ่งเชฟถือเป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากมายจนไม่สามารถตีมูลค่าออกมาเป็นเงินได้

การทำงานที่ร้านนี้ทำให้เชฟมีโอกาสได้ทำงานร่วมกับเชฟระดับโลกหลายท่าน เชฟใช้เวลาและความทุ่มเททั้งแรงกายและแรงใจ ในการเรียนรู้เก็บเกี่ยวประสบการณ์เพื่อสร้าง “มาตรฐานและความสมบูรณ์แบบ” ด้านการทำงานให้กับตัวเอง ซึ่งถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับเชฟรุ่นใหม่และผลงานของเชฟที่ยังคงเป็นที่จดจำและชวนให้อยากลิ้มลองสักครั้งหากมีโอกาส หลายต่อหลายเมนูโดยเฉพาะช่วงที่ทำงานให้กับร้าน More Cupcakes ที่ Chicago เชฟใช้เวลาถึง 4 เดือนในการสร้างสรรค์เมนู BLT Cupcake (Bacon Lettuce Tomato) ที่กลายมาเป็นเมนูที่ Oprah Winfrey เขียนถึงในคอลัมน์ Top 10 Oprah’s Favorite Things 2010 (10 อันดับที่ชื่นชอบของโอปราห์ วินฟรีย์)

จาก O Magazine ในปี 2010 เชฟทอดด์บอกว่า สไตล์การทำขนมของตัวเองนั้นจะหยิบเมนูง่ายๆที่คนรู้จักขึ้นมานำเสนอในมุมมองใหม่ โดยจะมีความแตกต่างเกิดขึ้นทุกครั้งที่ทำ ขึ้นอยู่กับว่าเชฟจะตีความวัตถุดิบจานนั้นๆอย่างไร เช่น แครอทเค้กที่เราคุ้นเคย เชฟทอดด์สามารถทำออกมาในเวอร์ชั่นที่แตกต่างกันนับ 10 แบบ ซึ่งตอกย้ำคำกล่าวขานของ TRN ที่เปรียบเปรยเชฟเหมือนคอนดักเตอร์ที่ตีความทุกตัวโน้ตให้แตกต่างและลงตัวได้เป็นอย่างดี

ส่วนวันนี้เชฟทอดด์จัดเต็มกับ 4 เมนูจานหวาน ที่ไม่สามารถหากินได้จากที่อื่นมาให้ลิ้มลองเริ่มจาก พัมกิ้นส์ รีเทิร์น (Pumpkin Returns) ความลงตัวของฟักทองและโดนัททานอุ่นๆหวานนุ่มนวล หอมกลิ่นชินนามอนและบราวบัตเตอร์ เจอความมันจากไข่แดง ทานคู่กับแอปเปิ้ลสดตัดความมันได้ลงตัว มาปลุกให้ตื่นรับวันที่สดใส ต่อด้วย มาย สวีท เบรคฟาสต์ (My Sweet Breakfast) หลับตานึกถึงกลิ่นหอมเย้ายวนของขนมอบจากเตาที่ปลุกความสดชื่นให้ตื่นในรุ่งเช้าของวันอันแสนอบอุ่น จานนี้เป็นการเอาแป้งขนมปังผสานกับแป้งเค้ก เติมแต่งด้วยสัมผัสหลากหลายของท็อฟฟี่เฮเซลนัทและมูสช็อกโกแลต ตบรวมกันให้ความกรุบกรอบ อบด้วยซอส Whisky Sticky Goo ให้ซึมเข้าในตัวขนมปัง เวลาทานจะได้กลิ่นถั่ว รสฉ่ำหวานของลูกเกด ตัดด้วยความเค็มจากเบคอน รวมถึงความหอมหวานของน้ำตาลทรายแดง น้ำผึ้ง วิสกี้ เนย บัตเตอร์สก็อตและชินนามอน ทานคู่กับไอศกรีม Salted-Maple Ice Cream ที่มีรสเค็มสลับหวาน ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังนั่งฟังเพลงคลาสสิกที่บรรเลงจากวงออเคสตร้า ถือเป็นจานหวานที่เปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ลิ้มลองได้อย่างแท้จริง

มาติดๆกับ เลมอน อัพ (Lemon Up) รสชาติเปรี้ยวหวานจี๊ดจ๊าดของเลมอนชัดเจนเคล้าความซาบซ่า สดชื่น พร้อมด้วยเมอแรงค์ 2 แบบ ทั้ง French Meringue Shards ที่มีความกรุบและเมอแรงค์ที่ออก Creamy คือ Swiss Meringue ร่วมกับผงโยเกิร์ตและสตรอเบอร์รี่สด

ก่อนปิดท้ายด้วยเมนู แครอทเค้ก โวลุ่ม 2 (Carrot Vol. ll) ที่ยังคงความเป็นแครอทเค้กตำรับอเมริกันดั้งเดิม  ที่มีส่วนผสมของเนื้อสับปะรดสับ วอลนัท เกล็ดมะพร้าว และลูกเกด แต่เชฟทอดด์เพิ่มความพิเศษด้วยรสสัมผัสใหม่เป็นการโคจรมาพบกันครั้งแรกของแครอทเค้กและชาเขียว หอมกลิ่นลูกเกดบด (Raisin Puree) ถือว่าอร่อยลงตัวที่เดียว จบ 4 เมนูนี้แล้วปริมาณน้ำตาลพุ่งปรี๊ดไปที่ระดับไหนไม่อาจคาดเดา

แต่เรื่องบันดาลใจและจินตนาการในการสร้างสรรค์ขนมแต่ละจานนั้น ยากที่จะบรรยายออกมาเป็นตัวหนังสือได้จริงๆ บอกลากันอยู่ 3 รอบกว่าจะจบการพูดคุยในวันนี้ และเชฟทอดด์ได้ให้คำจำกัดความของการเป็น “Chef” ไว้อย่างน่าสนใจว่า

“การเรียนจบด้านปรุงอาหารและใส่เสื้อเชฟ ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถเรียกตัวเองเป็นเชฟได้ทันที เพราะอาชีพนี้ต้องอาศัยเวลา ความคิดสร้างสรรค์ และประสบการณ์เป็นเครื่องพิสูจน์ เมื่อใดก็ตามที่สามารถเผชิญปัญหาที่เกิดขึ้นในแง่ของการปรุงอาหารและแก้ไขอุปสรรคนั้นๆได้ รวมถึงผู้คนชื่นชอบเยอรมันในอาหารที่เราทำ นั่นแหละคือเวลาที่จะสามารถเรียกตัวเองว่า “Chef” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

*ขอบคุณบทสัมภาษณ์จาก THAILAND RESTAURANT NEWS